รู้หรือไม่ ไม่จ่ายกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา กี่ปี ถึงโดนฟ้อง?
หลายๆคนน่าจะคุ้นเคยกับ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ ที่เรียกสั้นๆว่า กยศ. กันอยู่แล้ว เพราะ มันคือ หน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมด้านการศึกษา ผ่านการให้กู้ยืมเงินกับนักเรียนหรือ นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งก็ไม่ใช่ทุนยืมเปล่าเพราะ เมื่อจบการศึกษาแล้ว ผู้ยืมก็จะต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดนั่นเองซึ่งบางคนก็ยังไม่ทราบว่า การจ่ายหนี้ กยศ. ต้องจ่ายอย่างไร ดอกเบี้ยเท่าไหร่ จ่ายภายในกี่ปี แล้วถ้าไม่จ่ายนานๆ จะโดนฟ้องหรือไม่ ซึ่งวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆกัน
วิธี กู้เงินเรียนผ่านกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา 2566
ก่อนอื่น เรามาดูวิธีกู้เงินเพื่อการศึกษา ผ่าน กยศ. กันก่อนดีกว่า โดยอย่างที่เราเข้าใจกันว่า กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มีไว้ให้สำหรับนักเรียนและนักศึกษาได้กู้เงินไปใช้ในเรื่องเรียน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าเทอม ค่าอุปกรณ์และหนังสือต่างๆ เป็นต้น โดยเราสามารถแบ่งวงเงินกู้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้เป็น 2 ส่วน คือ
- ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่กับการศึกษา โดยจะจ่ายเข้าบัญชีของสถานศึกษา
- ค่าครองชีพได้แก่ ค่าที่พักและค่าใช้จ่ายส่วนตัว จ่ายเข้าบัญชีของผู้กู้ยืม โดยผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทยที่ผู้กู้เปิดบัญชีได้
คุณสมบัติของผู้ที่สามารถกู้ กยศ. ได้แก่
1.มีสัญชาติไทย
2.เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี
3.มีคุณสมบัติอื่น เช่น ผลการเรียนดี ประพฤติดี ไม่เคยสำเร็จปริญญามาก่อน ไม่ทำงานประจำระหว่างเรียน ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เคยต้องโทษจำคุก และ มีอายุในขณะที่ขอกู้ เมื่อนับรวมกับระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี และระยะเวลาผ่อนชำระ 15 ปี รวมกันไม่เกิน 60 ปี
วิธีกู้เงินธนาคารโดยสามารถสมัครลงทะเบียนได้ผ่านทางช่องทางออนไลน์ของสำนักงานกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่ www.studentloan.or.th นั่นเอง เมื่อเราทราบแล้วว่า เราจะสมัครได้อย่างไร ที่นี้เรามาดูวิธีการชำระหนี้ กยศ. กันบ้างดีกว่า ว่าชำระยังไงจึงจะไม่เป็นหนี้
กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ปลอดหนี้ 2 ปี ระยะเวลาชำระคืน 15 ปี
สำหรัยผู้ที่กู้เงินเรียนผ่าน กยศ. นั้น จะมีระยะเวลาในการปลอดหนี้ 2 ปีหลังจากปีที่สำเร็จการศึกษา จากนั้นจะต้องชำระเงินกู้ยืม พร้อมทั้งดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี โดยมีระยะเวลาคืนให้กองทุนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี นับแต่วันที่ต้องเริ่มชำระหนี้ โดยหนี้งวดแรกนั้น จะเริ่มในภายในวันที่ 5 กรกฎาคม โดยให้ชำระหนี้คืนเฉพาะเงินต้นในอัตราร้อยละ 1.5 ของวงเงินที่ได้กู้ยืม งวดต่อๆ ไปให้ชำระเงินต้นคืน ตามอัตราผ่อนชำระที่กองทุนกำหนด พร้อมภายในวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี
โดยการชำระเงินนั้น สามารถทำได้โดยการหักบัญชี, ผ่านเคาเตอร์ธนาคาร, ทางตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยจะมีค่าธรรมเนียมลดยอดหนี้รายการละ 10 บาท โดยผู้กู้สามารถเลือกการชําระหนี้กยศ. แบบรายเดือนหรือรายปีก็ได้แต่ต้อง ไม่ต่ำกว่าอัตราที่กำหนดโดยมีระยะเวลาผ่อน 5 ปี 10 ปี และ 15 ปีนั่นเอง
ติดหนี้ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษากี่ปี จึงจะโดนฟ้อง
มาถึงคำถามสำคัญว่า ติดหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษากี่ปี จึงจะโดนฟ้อง ต้องบอกก่อนว่า กยศ. นั้น ถือเป็นกองทุนหมุนเวียน หมายความว่า ถ้าคุณไม่จ่ายหนี้ตามเวลาที่กำหนดไว้ น้องๆรุ่นต่อไปที่มีเหตุผลความจําเป็นในการขอรับทุน กยศ. ก็จะไม่ได้รับการอนุมัติเงินมาใช้จ่ายเช่นกัน ดังนั้น ถ้าเป้นไปได้เราควรจะจ่ายหนี้ให้ตรงเวลาและครบถ้วน เพื่อสนับสนุนการศึกษาให้กับเยาวชนรุ่นต่อไปเรื่อยๆดีกว่า
แต่ หากคุณผิดชำระหนี้ขึ้นมา ก็จะต้องมีค่าปรับหรือค่าธรรมเนียมจัดการกรณีผิดนัดชำระหนี้ตามอัตราที่กองทุนกำหนดเกิดขึ้น โดยปัจจุบันปี 2566 เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ได้มีการปรับค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา อยู่ที่ 7.5% ต่อปี ส่วนงวดที่ผิดนัดชำระจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 62 ยังคิดอัตราเบี้ยปรับเท่าเดิม คือ 12-18% ต่อปี
โดยผู้ที่ค้างชำระนาน นอกจากจะต้องเสียค่าปรับในส่วนนี้แล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วย โดยมีที่ถูกฟ้องร้อง คือ
- มียอดค้างชำระหนี้เกิน 4 ปี หรือ 5 งวด โดยมีจำนวนวัน 1,460 วันขึ้นไป
- เลยระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ 15 ปีแล้ว ยังมียอดค้างอยู่
- มียอดค้างชำระแต่ไกล่เกลี่ยคดีแล้ว
โดยเงื่อนไขที่เข้าข่ายถูกฟ้อง คือ
– ผู้กู้ยังมีชีวิตอยู่
– ไม่เป็นบุคคลพิการหรือทุพพลภาพ ที่ได้รับอนุมัติระงับจ่ายหนี้
– ไม่เป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว
– ไม่เป็นผู้ที่ชำระหนี้โดยการหักเงินเดือน
– ไม่เป็นผู้ที่ชำระหนี้มากกว่า 10% จากยอดคงเหลือ
– ไม่เป็นผู้ที่ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์
โดยถ้าคุณไม่อยากตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ อย่าลืมตรวจสอบวันชำระหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้ดี หรือสามารถเช็คหนี้ กยศ. ด้วยเลขบัตรประชาชนได้ที่ wsa.dsl.studentloan.or.th